เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา มีขนาดเล็กกว่าเต่ากาลาปากอสและเต่าอัลดาบลา สีของกระดองและผิวหนังจะกลมกลืนไปกับสีของพื้นที่แบบทะเลทราย มีผิวสีเหลืองทองไปถึงสีน้ำตาลอมเหลือง และกระดองบนมีสีน้ำตาล กระดองของเต่าเป็นรูปวงรีขยายด้านกว้าง ขอบกระดองท้องด้านหน้าและหลังมีลักษณะคล้ายกับฟันปลา และวงแหวนการเติบโตที่เห็นได้ชัดเจนบนกระดองเกล็ดแต่ละอัน ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายบอกอายุ มีเกล็ดขาหน้าที่ยาวแหลมยื่นออกมาซ้อนกัน และขาหลังบริเวณน่องจะมีเดือยขนาดใหญ่ 2 - 3 เดือย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเต่าชนิดนี้
การกระจายพันธุ์ของเต่าซูลคาต้าอย่ในบริเวณ ที่เรียกว่าซาเฮล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างทะเลทรายกับทุ่งหญ้ากึ่งแห้งแล้ง ทุ่งหญ้าสะวันนา และป่าโปร่ง ในประเทศบูร์กินาฟาโซ ชาด เอธิโอเปีย โซมาเลีย ไนจีเรีย และซูดาน ในพื้นที่แห้งแล้งเหล่านี้เต่าจะขุดโพรงในพื้นดินเพื่อให้ในโพรงดินมีความชื้นมากกว่าบริเวณหน้าดิน และในช่วงอากาศร้อนของกลางวันเต่าจะอยู่ภายในโพรงดิน โพรงดินอาจลึกถึง 15 เมตร และยาว 30 เมตร พื้นที่โดยรอบปากโพรงดินจะมีพืชต่างๆ เช่น หญ้าและพืชอวบน้ำ จะเติบโตรอบขึ้น ที่จะช่วยในการเก็บความชื้นและเป็นอาหารสำหรับเต่าด้วย
กินพืชเป็นอาหารหลัก ประกอบด้วยหญ้าและพืชหลายชนิดที่มีใยอาหารสูงและมีโปรตีนต่ำ ดอกไม้ รวมทั้งตะบองเพชรที่มีลักษณะเป็นแผ่น
ในช่วงฤดูร้อนตัวเต็มวัยมักจะพยายามหลบซ่อนในโพรงดินที่ชื้นและเย็นเพื่อลดการสูญเสียน้ำของร่างกาย กิจกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าและค่ำ ที่เต่าซูลคาต้าจะออกหากินพืชอวบน้ำและหญ้า มักใช้เวลาช่วงเช้าตรู่อาบแดดเพื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกายหลังจากต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวในเวลากลางคืน
สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์
การผสมพันธุ์พบได้มากที่สุดช่วงหลังฤดูฝนตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน เต่าเพศเมียอาจมีการขุดรังสี่หรือห้ารังก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรังที่จะวางไข่ โดยจะวางไข่ครั้งละ 15 ถึง 30 ฟอง ไข่เหล่านี้จะฟักตัวในรังใต้ดินอีกประมาณแปดเดือน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ถ้าเต่าเพศผู้พบกัน จะเข้ามาชนกันและพยายามพลิกตัวฝ่ายตรงกันข้าม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560