ชะนีธรรมดา, ชะนีมือขาว/ Lar Gibbon (Hylobates lar)

สิ่งที่น่าสนใจ :

“รู้หรือไม่” คำว่า Hylobates เป็นภาษากรีก แปลว่า นักเดินป่า ชะนีธรรมดาจัดเป็นวานรขนาดเล็ก (Lesser Apes) ไม่มีหาง รูปร่างเพรียว ใบหน้าแบน ช่วงอกกว้าง มีแขนที่ยาวมากเมื่อเทียบกับขาที่ค่อนข้างสั้น ชะนีธรรมดาเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตบนชั้นเรือนยอดไม้ (เคลื่อนที่ หาอาหาร และมีกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ) ชะนีธรรมดาจะอยู่เป็นครอบครัวเล็ก ๆ เฉลี่ยครอบครัวละ 4 ตัว มากสุดไม่เกิน 7 ตัว และมีอาณาเขตเฉพาะเป็นของตนเอง ชะนีธรรมดามีขนหลายสี เช่น สีขาวครีม สีน้ำตาลเข้ม และสีดำ ซึ่งลักษณะสีของขนไม่เกี่ยวกับอายุหรือเพศ ใบหน้าไม่มีขน มีสีขาวบริเวณรอบวงหน้า มือ และตีน ชะนีธรรมดามีแผ่นรองนั่ง (Callosities) มีลักษณะเป็นแผ่นหนังกลม ๆ ขนาดฝ่ามือของชะนี อยู่ระหว่างอวัยวะเพศ ไว้ใช้สำหรับนั่ง

ถิ่นอาศัย :

พบในทวีปเอเชีย ในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (สุมาตรา), สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, มาเลเซีย (คาบสมุทรมาเลเซีย), สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรไทย บริเวณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าพรุ ชะนีธรรมดามีพื้นที่อาศัย (Home range sizes) ประมาณ 275–337.5 ไร่ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ต่ำกว่า 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

อาหาร :

เป็นสัตว์กินพืช อาหารหลัก คือ ผลไม้สุกเป็นส่วนใหญ่ (66%) เช่น ไกร ไทรผู้ดี เดื่อใบหว้า มะหลอด ตีนตั่ง เงาะป่า มังคุดป่า และกระท้อนป่า ดอกไม้ (1.3%) เช่น ยางเสียน ยอดอ่อนเถาวัลย์ (1%) ใบอ่อน (24%) แมลง (9%) ไข่นก กินผลไม้มากในช่วงเช้าและเย็น กินใบไม้และแมลงมากขึ้นในตอนกลางวัน กินน้ำโดยใช้วิธีการใช้มือจุ่มลงไปในน้ำตามโพรงไม้ แล้วเลียจากมือ

พฤติกรรม :

ชะนีธรรมดาใช้เวลาในการพักผ่อน (Resting) (26%) การหาอาหาร (33%) การเดินทาง (24%) มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม (11%) เช่น การดูแลเอาใจใส่ (Grooming) การเล่นมวยปล้ำ, การไล่จับกัน, การตีและกัด) การดูแลตัวเอง (Grooming) (5%) การร้อง (4%) การปกป้องอาณาเขต (2%) ชะนีธรรมดาประกาศอาณาเขตด้วยการร้องเสียงดัง โดยตัวเมียจะเริ่มร้อง (Female Great Call) และตัวผู้จะร้องรับ ในช่วงกลางเป็นเสียงที่สั้นกว่า และต่อเนื่องไปกับเสียงร้องของตัวเมีย การร้องของทั้งตัวเมียและตัวผู้นี้รวมเรียกว่า การร้องคู่ (Vocal duet) บางครั้งจะได้ยินเสียงร้องของตัวผู้ตัวเดียว (Male solos) ส่วนใหญ่จะร้องตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงสาย ๆ ประมาณ 11 นาที ถึงเวลาประมาณ 10.00–11.00 น. เสียงร้องดังไกลประมาณ 2 กิโลเมตร ชะนีธรรมดาเคลื่อนที่โดยโหนจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง ซึ่งการโหนหรือการกระโจนอาจไกลถึง 9 เมตรหรือมากกว่า ด้วยความเร็วประมาณ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในการหากินใน 1 วัน ชะนีธรรมดาเดินทางเป็นระยะทางเฉลี่ย 1,400 เมตร เมื่ออยู่บนพื้น ชะนีธรรมดาจะชูแขนขึ้นเหนือศีรษะเพื่อทรงตัว ชะนีธรรมดาไม่สร้างที่นอน แต่จะเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งมักอยู่ห่างจากต้นไม้ที่เป็นอาหารต้นสุดท้าย เพราะต้องการหลีกเลี่ยงผู้ล่าและสัตว์หากินตอนกลางคืนซึ่งอาจเข้ามารบกวนขณะพักผ่อน ชะนีธรรมดานอนด้วยการนั่งพิงหลังกับลำต้นต้นไม้ใหญ่แล้วใช้มือจับกิ่งไม้ใกล้เคียงไว้ หรือเอียงตัวตะแคงบนกิ่งไม้ที่มั่นคง แล้วเอามือจับกิ่งไม้อีกกิ่ง ส่วนใหญ่ชะนีธรรมดามักอยู่บนต้นไม้ที่ใช้นอนก่อนที่ฟ้าจะมืด เวลาประมาณ 15.00–16.00 น.

สถานภาพปัจจุบัน :

1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2024) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2020) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)

อนุกรมวิธาน

CLASS : Mammalia

ORDER : Primates

FAMILY : Hylobatidae

GENUS : Hylobates

SPECIES : Lar Gibbon (Hylobates lar)

อายุเฉลี่ย :

อายุขัยประมาณ 30–40 ปี

วัยเจริญพันธุ์ :

ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน คลอดลูกช่วงเดือนกันยายน ถึง เดือนตุลาคม ชะนีธรรมดามีระบบการผสมพันธุ์ เป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว และรวมตัวกันเป็นกลุ่มครอบครัวขนาดเล็ก วงรอบการเป็นสัดของตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 27–30 วัน โดยมีประจำเดือนประมาณ 4–5 วัน ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 8–10 ปี และตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่อประมาณ 8–12 ปี ตั้งท้องประมาณ 7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ทุก ๆ 3 ถึง 5 ปี เมื่อลูกชะนีอายุได้ 1 ปี จะเริ่มออกจากอกแม่ห้อยโหนไปมาด้วยตัวเอง ลูกชะนีธรรมดาส่วนใหญ่จะหย่านมเมื่ออายุระหว่าง 1–2 ปี ลูกจะอยู่กับแม่จนถึงอายุประมาณ 2 ปี เมื่อลูกอายุได้ 2–3 ปี แม่ชะนีธรรมดาจะเริ่มผสมพันธุ์อีกครั้ง ลูกชะนีธรรมดาตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูงเร็วกว่าตัวเมีย และจะอยู่ตามลำพังจนกระทั่งหาคู่ผสมพันธุ์ได้ ชะนีธรรมดาในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการผสมข้ามพันธุ์กับชะนีมงกุฎ จนเกิดเป็นชะนีลูกผสมซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างออกไป รวมถึงเสียงร้องด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นับเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลก ที่มีชะนีทั้ง 2 ชนิดนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ขนาดและน้ำหนัก :

ชะนีธรรมดาตัวผู้หนักประมาณ 5.0–7.6 กิโลกรัม ความยาวลำตัว ประมาณ 43.5–58.5 เซนติเมตร ตัวเมียหนักประมาณ 4.4–6.8 กิโลกรัม ความยาวลำตัว ประมาณ 42.0–58.0 เซนติเมตร มีฟันเขี้ยวยาว (สูตรฟันคือ 2.12.3/2.1.2.3)

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560