ประวัติของสวนสัตว์ไทย

สวนสัตว์ดุสิต เดิมเรียก สวนดุสิต หรือ เขาดิวนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศ และพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่อที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลินและเป้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5)ด้วยการขุดสระนำ้ใหญ่ ประกอบคูคลองระบายนำ้ และถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขาเกาะกลางนำ้เรียกว่า วนา รวมอาณาเขต ส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนประองค์ และข้าราชบริพารฝ่ายในก่อน ดังนั้นสวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในพระราชฐานพระราชวังดุสิต

 

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศเดนมาร์ค พระราชทานให้ ปรินส์ วัลลิมาร์ แห่งเดนมาร์ค พระราชอาคันตุกะ ปลูกไว้เป็นที่ระลึกต่อแผ่นดิน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2443

 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนแห่งนี้ให้กว้างขวาง และดีกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วย ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิต ให้ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และเป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชน ในเวลานั้นพระองค์เจ้าทิพอาภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้พระราชทานอนุมัติในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ให้เทศบาลนครกรุงเทพรับบริเวณสวนดุสิต หรือ เขาดินวนามาจัดเป็นสวนสาธารณะได้

 

จากนั้นทางเทศบาลยครกรุงเทพ ได้จัดการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพรและย้ายสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ ลิง จากสวนสราญรมย์ มาไว้ที่เขาดินวนา และได้ขอให้ทางสำนักพระราชวังส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมในวันอาทิตย์ และเมื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆเรียบร้อยแล้ว ทางเทศบาลนครกรุงเทพจึงเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจได้เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ และให้เรียกสวนดุสิตนี้ว่า สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

 


สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๑ หนึ่งในสวนสัตว์ชั้นนำทั่วโลกตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๕ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นสวนสัตว์บริการสาธารณะ ซึ่งรัฐพึงดำเนินการโดยการก่อตั้งขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมา เมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารใหม่ องค์การสวนสัตว์ ได้โอนย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบัน

 

ในระยะแรก องค์การสวนสัตว์ฯ มีสวนสัตว์เพียงแห่งเดียวคือ สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา)จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้จัดตั้งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ในเวลาต่อมา จนในปัจจุบันองค์การสวนสัตว์ได้ดำเนินการจัดให้มีสวนสัตว์เพิ่มขึ้นอีก ๓ แห่งคือ สวนสัตว์เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๕๒๐) สวนสัตว์นครราชสีมาและสวนสัตว์สงขลา (พ.ศ. ๒๕๓๔) และได้เพิ่มขึ้นอีก ๓ แห่ง คือ สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่นและโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์สำหรับสวนสัตว์เปิดเขาเขียวนั้น เริ่มแรกเป็นเพียงสถานที่พักฟื้นโดยมีการระบายสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งมีพื้นที่น้อยแต่ปริมาณสัตว์มากเกินสมควร ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดมีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและการขยายพันธุ์สัตว์เป็นไปอย่างเชื่องช้า อีกทั้งสัตว์ป่าที่หายากบางชนิดไม่มีการขยายพันธุ์ จึงได้ทำการระบายสัตว์ต่าง ๆ มาเลี้ยงดูให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติ บนพื้นที่ ๕๐๐ ไร่

 

ในเวลาต่อมา องค์การสวนสัตว์ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงสถานที่ฟื้นฟูสภาพป่าก่อสร้างอาคารต่าง ๆ และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ขยายเนื้อที่ดำเนินการเพิ่มขึ้นอีก ๒,๕๐๐ ไร่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้นด้วยงบประมาณของโครงการระยะที่ ๑ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๕๘๙.๐๖๒ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้รับการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก ๒,๐๐๐ ไร่ จนกระทั่งปัจจุบันนี้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีพื้นที่ทั้งหมดเป็นจำนวนถึง ๕,๐๐๐ ไร่

 


 

สวนสัตว์เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นโดยนาย ฮาโรลด์ เมสัน ยัง (Mr. Harold Mason Young)มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ผู้เข้ามาเป็นอาสาสมัครสอนการยังชีพในป่าให้แก่พวกทหารและตำรวจชายแดน ในช่วงสงครามเกาหลี ( พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๖ ) โดยอาศัยพื้นที่บ้านที่ตนเช่าอยู่คือ บ้านเวฬุวัน เชิงดอยสุเทพ เป็นสถานที่เริ่มต้นโดยเริ่มเปิดเป็นสวนสัตว์เล็กๆ ของเอกชนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๕ โดยจ้างคนพื้นเมืองและชาวเขาจำนวนไม่มากนักช่วยดูแล เหตุผลของการสะสมสัตว์ชนิดต่างๆ ของนาย ฮาโรลด์ เมสัน ยัง จนสามารถจัดเป็นสวนสัตว์เอกชนขึ้นได้นั้น แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่คงเนื่องด้วยความรักเมตตาต่อสัตว์เป็นพื้นฐาน และเพื่อศึกษานิสัยอากัปกิริยาต่างๆ ของสัตว์ชนิดต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วยเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพเป็นอาสาสมัครสอนการยังชีพในป่าให้แก่ทหาร และตำรวจชายแดน ซึ่งต้องผจญกับสัตว์ป่านานาชนิดเสมอ ต่อมาจึงติดต่อขอที่ดินป่าสงวน เชิงดอยสุเทพ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่โดยตรง จนได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนเชิงดอยสุเทพ ประมาณ ๖๐ ไร่ เป็นที่ตั้งสวนสัตว์ของเอกชน เปิดบริการให้เข้าชม ตั้งแต่วันจักรี ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๐

 

จนกระทั่งนาย ฮาโรลด์ เมสัน ยัง ถึงแก่อนิจกรรม ใน พ.ศ.๒๕๑๘ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาเห็นคุณค่าของสวนสัตว์ของนาย ฮาโรลด์ เมสัน ยัง ทั้งในฐานะเป็นแหล่ง พักผ่อนศึกษาสัตว์ของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวแหล่งหนึ่งตามโครงการปรับปรุงดอยสุเทพ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จึงรับกิจการสวนสัตว์ของนาย ฮาโรลด์ เมสัน ยัง ไว้ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

 

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๐ จึงโอนเข้าสังกัดองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๐ เป็นต้นมา เนื่องนับ ถึง ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๐ และเมื่อสวนสัตว์เชียงใหม่มีอายุครบ ๑๐ ปี ได้ขยายพื้นที่จากเดิมประมาณ ๖๐ ไร่ ได้ขยายเป็น ๑๓๐ ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ สวนสัตว์เชียงใหม่ก็ได้รับความเห็นชอบจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรีให้ขยายพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพิ่มเติมอีกประมาณ ๕๐๐ ไร่ จนปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่มีพื้นที่ ๕๓๑ ไร่ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ "องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

 


สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์ลำดับที่ ๔ ในองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ชื่อ "โครงการสวนสัตว์นครราชสีมา” จนกระทั่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ โดยมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธี และใช้ชื่อว่า "สวนสัตว์นครราชสีมา” เป็นต้นมา สวนสัตว์นครราชสีมาจัดเป็นสถานที่พักผ่อนเชิงนิเวศของประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าและธรรมชาติศึกษาของเยาวชนที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานการสวนสัตว์ให้มีคุณภาพในระดับสากล ภายใต้นิยาม "ท่องเที่ยว เรียนรู้ สู่ธรรมชาติ”

 

สวนสัตว์นครราชสีมา ...ซาฟารีอีสาน..ด้วยพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๕๔๕ ไร่ มีการแสดงสัตว์ป่านานาชนิด อยู่ในความดูแลทั้งหมดประมาณ ๑,๘๐๐ ตัว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศอำนวย จึงมีการปรับพื้นที่เสมือนทุ่งหญ้าสะวันนาซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสภาพทางภูมิศาสตร์และการจัดแสดงสัตว์ป่าที่เหมาะสมตามหลักภูมิศาสตร์ การนำสัตว์จากแอฟริกามาจัดแสดงได้แก่ "The Big Five” ๕ สัตว์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทุ่งหญ้าแอฟริกาได้แก่ สิงโต เสือดาว-เสือดำ ช้างแอฟริกา แรดขาว ควายป่าแอฟริกา รวมทั้งสัตว์ป่าจากทวีปแอฟริกาอื่นๆ เช่นยีราฟ ม้าลาย แอนติโลป เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีความโดดเด่นเฉพาะในเรื่องของการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย และสัตว์ชนิดอื่นจากทวีปต่างๆมาจัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาเข้าชมมากมาย.

 


หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น นายอำนวย สุวรรณคีรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบควบคุมดูแล องค์การสวนสัตว์ ได้มีนโยบายจัดตั้งสวนสัตว์ทั่วทุกภาค สำหรับภาคใต้ได้คัดเลือกสถานที่ ที่จังหวัดสงขลา บริเวณเขารูปช้าง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (บ้านสวนตูล)ดำเนินการจัดตั้งสวนสัตว์ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในปี ๒๕๓๑

 

โครงการสวนสัตว์สงขลา เป็นโครงการ ๑๐ ปี โดยระยะแรกรัฐบาลให้เงินอุดหนุน ๑๒๐ล้านบาทโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๓๒–๒๕๔๑ มีสิ่งก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้ว คือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน อาคารสำนักงาน อ่างเก็บน้ำ เรือนเพาะชำ และสถานที่จัดแสดงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ทยอย นำสัตว์ชนิดต่างๆเข้ามาแสดงให้ประชาชนชาวสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ชม เช่น สมเสร็จ กระจง อูฐ ลามา ยีราฟ หมี เสือ ลิงชะนี กวาง ละมั่ง เก้ง นกสวยงาม เช่น นกแก้ว นกมาร์คอว์ นกคลาสโซวารี นกฟลามิงโก และสัตว์อื่นอีกมากมาย

 

สวนสัตว์สงขลา เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสวนสัตว์แห่งที่ ๕ ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของภาคใต้โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ในพื้นที่ ๘๗๘ ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สวนสัตว์สงขลา เริ่มเก็บค่าบัตรผ่านประตูตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๑เป็นต้นมาและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ โดยฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นประธานในพิธี

 


สวนสัตว์อุบลราชธานีตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน ๑๑๒ หมู่ ๑๗ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่จำนวน ๑,๒๑๗ ไร่ ในการดำเนินการได้กำหนดเรื่องราวความคิดที่เป็นจุดสำคัญ คือ Jungle Park คือการนำสวนสัตว์ (Zoo) เข้ามาผสมผสานกับความสมบูรณ์ของ ป่าไม้ ภายในพื้นที่โดยใช้การอนุรักษ์และหาประโยชน์จากสภาพผืนป่าแบบระมัดระวังและรอบคอบ ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของป่า และลดการทำลายสภาพพื้นที่เดิมให้มากที่สุดสวนสัตว์อุบลราชธานี เป็นสวนสัตว์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการ ของประชาชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ที่ต้องการให้มีแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่ ใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการท่องเที่ยวไม่มากนัก และสมาชิกทุกคน สามารถมีกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัว ด้วยความพร้อมในด้านต่างๆทั้งศักยภาพ สภาพแวดล้อมโดยรวมของพื้นที่ ความต้องการของประชาชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัด องค์ประกอบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญคณะกรรมการองค์การ สวนสัตว์ มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะดำเนินโครงการสวนสัตว์อุบลราชธานี โดยให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานทั้งหมด

 

องค์การสวนสัตว์ฯ ได้ประสานงานกับกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่จัดทำสวนสัตว์จังหวัดอุบลราชธานีและกรมป่าไม้เห็นชอบให้องค์การสวนสัตว์เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วนกรมป่าไม้อนุญาตให้องค์การสวนสัตว์ เข้าใช้พื้นที่ดำเนินการจัดตั้งสวนสัตว์อุบลราชธานีบนพื้นที่ ๑,๒๑๗ ไร่เป็นเวลานาน ๓๐ ปี โดยประกาศกรมป่าไม้ ฉบับที่ ๑๕/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๐

 

องค์การสวนสัตว์ฯ ได้รับงบประมาณปี ๒๕๔๕ จากรัฐบาลเพื่อเป็นค่าสำรวจ ศึกษาและวางผังหลักในการใช้พื้นที่สวนสัตว์อุบลราชธานี เป็นเงิน ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท องค์การสวนสัตว์ ได้จ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบราชธานีเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาในการดำเนินการศึกษาและวางผังหลักการใช้พื้นที่สวนสัตว์อุบลราชธานี พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในเอกสารโครงการสวนสัตว์อุบลราชธานี ได้กำหนด เวลาการดำเนินการ ๖ ปี วงเงินค่าใช้จ่ายประมาณ ๑,๑๓๔.๔ ล้านบาท ต่อมาองค์การสวนสัตว์ฯ ได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๐ โครงการสวนสัตว์อุบลราชธานี จำนวน๙๑,๘๐๘,๐๐๐บาท นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อที่จะเริ่มโครงการและดำเนินการจัดทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Infrastructure)

 


สวนสัตว์ขอนแก่น หรือเรียกขานกันในนาม สวนสัตว์เขาสวนกวาง สังกัดองค์การสวนสัตว์ ได้ถือกำเนิดขึ้นในแดนดินถิ่นอีสาน ซึ่งองค์การสวนสัตว์ ได้รับนโยบายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สำรวจพื้นที่ก่อสร้างอุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น-อุดรธานี บริเวณภูเขาสวนกวาง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น คาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี รวมพื้นที่ ๓,๓๓๘ ไร่ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ๔ หน่วยงานเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งประกอบไปด้วย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดขอนแก่น และองค์การสวนสัตว์

 

สวนสัตว์ขอนแก่น ได้เปิดอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๓ ภายในพื้นที่ ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนการศึกษา และส่วนจัดแสดงสัตว์ โดยพื้นที่ส่วนการศึกษา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษา ทางด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหายาก เป็นศูนย์วิจัย เพาะเลี้ยง และเป็นการท่องเที่ยวแบบอัธยาศัย กับแนวคิดที่สำคัญของการเป็นป่าชุมชนตามความคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มนุษย์และป่าสามารถมีชีวิตอยู่อย่างกลมกลืน และมีส่วนร่วม เป็นการกระตุ้น เศรษฐกิจการท่องเที่ยว การจ้างงานในท้องถิ่นและเช่นเดียวกับการขยายโอกาสให้ความรู้ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ในภูมิภาคอีสานตอนบน ของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุดรธานี รวมทั้งกิจกรรมเสริมอื่นๆ ได้แก่การเดินศึกษาป่าธรรมชาติ โครงการนักเรียนเข้าเรียนรู้ในสวนสัตว์ โครงการแค้มป์ปิ้ง โครงการกิจกรรมค่ายลูกเสือและยุวกาชาดส่วนที่ ๒ คือ ส่วนจัดแสดงสัตว์หรือ Zoo Zone เป็นแหล่งรวบรวมชนิดพันธุ์ของสัตว์ไว้หลากหลายเพื่อการเพาะและขยายพันธุ์ การวิจัยสัตว์ป่าที่หายากที่นำมาจัดแสดง อีกทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นแหล่งเที่ยวชมสัตว์ป่าของจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานีและใกล้เคียง เช่น ส่วนจัดแสดงกรงนกใหญ่นกแร้ง แรดขาว เสือขาว สิงโตขาว โดยเฉพาะสัตว์ในตระกูลกวาง เป็นการนำมาจัดแสดงในพื้นที่ที่กว้างขวางและรวมกันอยู่เป็นฝูงขนาดใหญ่ อยู่อย่างธรรมชาติให้สอดคล้องกับประวัติความเป็นมาของภูเขาแสนกวาง ซึ่งเคยมีกวางนานาสายพันธุ์มากมายนับแสนตัว ภายใต้เอกลักษณ์ของอุทยานสัตว์ป่าฯ " LAND OF THE DEERS ”

 


โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือช้างเร่ร่อนที่เป็นปัญหาอยู่ใน เมืองใหญ่ในปัจจุบัน ควาญช้างนำช้างมาเดินเร่ขายอาหารช้าง จากสภาพความแออัดของเมืองหลวงทำให้ช้างเกิดการบาดเจ็บ และล้มตายจากอุบัติเหตุ บางครั้งเกิดความเครียด อาละวาดทำร้ายประชาชนให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แนวทางการดำเนินการโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์จัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบอนุรักษ์ธรรมชาติและ วัฒนธรรมท้องถิ่น เน้นความเป็นอยู่บนพื้นฐานหมู่บ้านช้างเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มความสมบรูณ์ของพื้นที่ ความมั่งคั่งของอาหารช้าง เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสวนป่าดงภูดิน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการ

 

โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการโดยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ตามนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก่ปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับคืนถิ่น ณ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ มีเป้าหมายรับช้างเร่ร่อน๒๐๐ เชือก นำเข้าบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผสมผสานกับการชมธรรมชาติของช้าง การนำช้างมาเลี้ยงรวมกันปริมาณมากย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะด้านของเสียที่เกิดจากมูลช้าง ซึ่งมีปริมาณมากเฉลี่ยประมาณ ๕๐ กิโลกรัมต่อเชือก หรือราวๆ ๕-๑๐ ตันต่อวัน หากทิ้งไว้ในพื้นที่หรือจัดเก็บไม่หมดก็อาจทำให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของช้างได้ ปัจจุบันปางช้างหลายแห่งได้มีการพัฒนาแปรรูปมูลช้างไปเป็นกระดาษมูลสาช้าง ผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกจำหน่ายสร้างรายได้มากมาย นอกจากนี้ยังมีการนำมูลช้างไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ พลังงานทดแทนที่มีค่ามหาศาลได้ โรงงานแปรรูปและพลังงานทดแทนจะเป็นโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้อย่างมาก และยังเป็นประโยชน์ในด้านการให้การศึกษาแก่นักเรียน เยาวชน และนักท่องเที่ยวที่สนใจอีกด้วย ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสามูลช้างเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ในแง่การลดของเสียสู่สิ่งแวดล้อม สร้างรายได้แก่โครงการและคนเลี้ยงช้างได้ เช่นเดียวกับก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง นับเป็นพลังงานทดแทนที่มีค่าอย่างยิ่ง ลดการใช้ก๊าซจากปิโตเลียมได้