มารู้จัก "งูกรีนแมมบ้า" Green Mamba
กรีนแมมบ้า Green Mamba; Eastern green mamba (Dendroaspis angusticeps) *
1) ข้อมูลทั่วไป
ลักษณะทั่วไป : เป็นงูพิษ ขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ อาศัยอยู่บนต้นไม้ เขี้ยวพิษอยู่ด้านหน้า ลำตัวสีเขียวสด ท้องสีเขียวอมเหลือง ความยาวเฉลี่ย 1.4 เมตร
ถิ่นกำเนิด : แอฟริกาใต้ ประเทศโมแซมบิค(Mozambique), แทนซาเนีย(Tanzania), สวาสิแลนด์(Swaziland), เคนย่า(Kenya), ทางตอนใต้ของมาลาวี (Malawi) และทางตะวันออกของประเทศซิมบับเว (Zimbabwe)
ถิ่นอาศัย : งูกรีนแมมบ้า เป็นงูที่อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก โดยแทบจะไม่ลงพื้นดินเลย เว้นแต่เมื่อต้องออกหาอาหาร และไล่ตามเหยื่อ หรือนอนอาบแดด
พฤติกรรม : เป็นงูที่ออกหากินเวลากลางวัน ค่อนข้างขี้อาย และโดยปกติจะไม่ก้าวร้าวมากนัก และมักจะหนีเมื่อเผชิญหน้ากับมนุษย์ และสัตว์ที่ล่างูเป็นอาหาร แต่หากถูกรบกวนอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกต้อนจนมุม จะกลายเป็นงูที่ค่อนข้างดุร้ายก้าวร้าว สามารถป้องกันตัวเองโดยการฉกกัด ซ้ำๆ ได้อย่างรวดเร็ว กรีนแมมบ้าเป็นงูที่สามารถเลื้อยได้เร็วประมาณ 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นหากพบงูที่มีลักษณะต้องสงสัยว่าเป็นงูกรีนแมมบ้า ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ควรพยายามจับด้วยตนเองเพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
อาหาร : นก หนู ไข่นก กิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก
การสืบพันธุ์ : ออกไข่เฉลี่ยครั้งละ 10 – 15 ฟอง ตามโพรงไม้ ไขจะใช้เวลาฟักประมาณ 90 วัน ลูกงูเกิดใหม่มีขนาด 35- 45 เซนติเมตร มีพิษตั้งแต่แรกเกิด
อายุ : เฉลี่ย 15 – 25 ปี
พิษ : เป็นงูใน วงศ์เดียวกับ งูเห่า, งูจงอาง, งูทับสมิงคลา (วงศ์ Elapidae) โดยงูในกลุ่มนี้พิษจะออกฤทธิ์ ต่อระบบประสาทเป็นหลัก (Neurotoxins รวมถึง Cardiotoxins, Calcicludine, และ Fasciculins) ความรุนแรงพิษ ใกล้เคียงเคียงกับงูเห่า
*หมายเหตุ : งูกรีนแมมบ้า มีสองชนิดคือ กรีนแมมบ้าตะวันออก Eastern green mamba (Dendroaspis angusticeps) และ กรีนแมมบ้าตะวันตก Western green mamba (Dendroaspis viridis) ซึ่งคาดว่างูที่หลุดน่าจะเป็น Eastern green mamba (Dendroaspis angusticeps) เนื่องจากแหล่งข่าวได้ให้ข้อมูลว่าเป็นชนิดที่มีการนำเข้า และราคาการซื้อขายถูกกว่า กรีนแมมบ้าตะวันตก
2) งูสีเขียวในประเทศไทย : งูสีเขียวในประเทศไทยมีหลายชนิด สำหรับชนิดที่อยู่ในพื้นที่บริเวณที่มีข่าว งูกรีนแมมบ้า หลุด มี งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง งูเขียวหางไหม้ตาโต งูเขียวพระอินทร์ และงูเขียวปากแหนบ ซึ่งมีสีเขียวเหมือนกัน แต่ลักษณะต่างกันชัดเจน ส่วนงูของไทยที่มีขนาด และลักษณะใกล้เคียงกับงูกรีนแมมบ้า อย่างเช่น งูเขียวกาบหมาก และงูทางมะพร้าวเขียว นั้นปกติแล้วงูทั้ง 2 ชนิดจะไม่พบในภาคกลางตอนใน (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี อยุธยา) จึงสามารถตัดงูทั้ง 2 ชนิดเพื่อป้องกันการสับสนในพื้นที่ออกไปได้
3) จะแยกความแตกต่างระหว่างงูกรีนแมมบ้า และงูสีเขียวของประเทศไทยที่พบในพื้นที่ต้องสงสัยได้อย่างไร
4) หากถูกงูพิษกัดจะทำอย่างไร
การปฐมพยาบาล
อาการเฉพาะที่อาจมีหรือไม่มีอาการปวดบวมและไม่ค่อยพบการเกิดเนื้อตายหรือเกิดน้อยมากบริเวณที่ถูกกัด มีรายงานในบางกรณีที่อาจเกิดเนื้อตายรุนแรงได้ถ้าตำแหน่งที่ถูกกัดอยู่บริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า หรือในกรณีที่ทำการปฐมพยาบาลแบบขันชะเนาะ อาการทั่วไปเป็นอาการของพิษงูซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก เช่น ซึม ง่วงนอน หนังตาตก คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายไหลเนื่องจากอาการอัมพาตของขากรรไกร แขนขาอ่อนแรงเป็นอัมพาต หายใจลำบาก ช็อก และหมดสติ ทั้งนี้อาการเป็นพิษรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของงูที่กัด อายุของผู้ที่ถูกกัด ปริมาณพิษที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย อาการมักแสดงให้เห็นในช่วงระยะเวลา 30 นาทีถึง 4 ชั่วโมงหลังถูกกัด ดังนั้นการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและรวดเร็วจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยชะลอการไหลเวียนของพิษไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูพิษกัด (รวมถึงกรณีที่ไม่ทราบชนิดของงู) มีดังนี้
1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือทันที แล้วใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าพันเคล็ดชนิดยืดหยุ่นได้ เริ่มพันจากรอยแผลถูกกัดแล้วพันต่อไปจนถึงข้อต่อ หรือสูงเหนือบาดแผลให้มากที่สุด
2. หาไม้กระดานหรือวัสดุที่มีความแข็งตามความยาวของอวัยวะส่วนที่ถูกกัด นำมาดามแล้วพันด้วยผ้าพันแผลทับอีกครั้ง เพื่อให้อวัยวะส่วนที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
3. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาด้วยเซรุ่มแก้พิษงู
ถ้าเป็นไปได้ในระหว่างที่กำลังทำการปฐมพยาบาล ควรมีการเตรียมยานพาหนะที่พร้อมนำส่งผู้ป่วย และควรติดต่อสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้แพทย์ได้เตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วยถูกงูกัดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยแพทย์จะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยซึ่งได้รับพิษงูออกฤทธิ์ทางระบบประสาทได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีเซรุ่มแก้พิษงูแบบจำเพาะต่องูพิษนั้นๆ
ปัจจุบันประเทศไทยได้สั่งนำเข้าเซรุ่มสำหรับงูกรีนแมมบ้ามาสำรองไว้แล้วในสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และถึงแม้ว่าผู้ถูกกัดจะอยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาลที่มีเซรุ่ม ก็ควรนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เนื่องจากแพทย์สามารถรักษาตามอาการ จนผู้ถูกกัดปลอดภัยได้
5) ความคืบหน้าทีมงานติดตามงูกรีนแมมบ้า
จากการลงพื้นที่สำรวจโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 3 และ 5 พฤศจิกายน 2554 พบเพียง งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง งูเขียวหางไหม้ตาโต งูสายม่านพระอินทร์ งูเขียวพระอินทร์ งูเขียวปากแหนบ และคราบงูเห่า รวมทั้งคำบอกเล่าการพบงูเขียวตามบ้านเรือนเมื่อสอบถามถึงลักษณะงูแล้วพบว่า เป็นงูเขียวหางไหม้ท้องเหลืองยังไม่พบงูกรีนแมมบ้า
ข้อมูล : นายศรานนท์ เจริญสุข สำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา องค์การสวนสัตว์
ภาพโดย : สพ.ญ.ดร. ลาวัลย์ จันทร์โฮม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย (ภาพงูเขียวหางไหม้) นายอานุภาพ แย้มดี สำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา องค์การสวนสัตว์ (ภาพการปฏิบัติงาน)
ข้อมูลการปฐมพยาบาล : สพ.ญ.ดร. ลาวัลย์ จันทร์โฮม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย