สัตว์อื่นๆ สามารถติดเชื้อ COVID-19 ได้หรือไม่?
หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบโคโรน่า 19 (Covid-19) เกิดจากเชื้อ Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้อ RNA ไวรัสในกลุ่ม Betacoronavirus ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกระดับความรุนแรงในระดับที่การระบาดทั่วโลก (Global pandemic) โดยพบการระบาดมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งสาเหตุต้นกำเนิดของโรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันทราบว่า เชื้อ SARS-CoV-2 นั้น แสดงลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับเชื้อ Coronavirus TaTG13 ที่พบใน Horseshoe bat (Rhinolophus spp.) ถึง 96.2 % ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสัตว์กลุ่มนี้ อาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อ (Reservoires) แต่ยังไม่ปรากฎแน่ชัดว่าสัตว์ชนิดใดคือโฮสตัวกลาง (Intermediate host) แต่ ณ ข้อมูลปัจจุบัน มีการศึกษาความสัมพันธ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 กับเชื้อไวรัสโคโรน่าที่พบในตัวลิ่นมาลายู (Malayan pangolin) ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ในการส่งผ่านเชื้อจากสัตว์มาสู่มนุษย์อีกทางหนึ่ง
ณ ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังเป็นการติดต่อผ่านมนุษย์ สู่ มนุษย์ เป็นหลัก แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า สัตว์เลี้ยง หรือ สัตว์ป่า สามารถติดเชื้อ COVID-19 ได้หรือไม่ ?
ข้อมูลจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties, OIE) ได้มีการรายงานถึงสัตว์ "บางชนิด” โดยมีรายงานการติดเชื้อในสัตว์จากหลาย ๆ ประเทศ อาทิ
สุนัขในฮ่องกงที่ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ COVID-19 โดยอาศัยอยู่กับเจ้าของที่ป่วยด้วยโรค COVID-19
แมวในประเทศเบลเยียมที่แสดงอาการอาเจียน ท้องเสีย และมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งก็อาศัยอยู่กับเจ้าของที่ป่วยด้วยโรค COVID-19 เช่นกัน
และล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน 2020 เสือโคร่งมาลายู ณ สวนสัตว์แห่งหนึ่งในรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงอาการไอและเบื่ออาหาร ซึ่ง ณ ขณะนั้นพบการระบาด ของ COVID-19 สูงมาก เมื่อทำการตรวจยืนยันทางห้องปฎิบัติการ พบว่าตัวอย่างจากเสือโคร่งพบสารพันธุกรรมของเชื้อ COVID-19 ซึ่งทาง OIE ตั้งข้อสันนิษฐานว่า สัตว์อาจติดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ
ในระดับของการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองนั้น อยู่ในช่วงเริ่มของการศึกษา ซึ่งเป้าหมายหลักของการศึกษาในช่วงนี้คือการศึกษาความไวต่อการติดเชื้อและการส่งผ่านเชื้อเป็นหลัก ซึ่งมีรายงานว่าสัตว์ที่มีความไวต่อการติดเชื้อและสามารถแสดงอาการของการป่วยได้ คือ แมวบ้าน และ เฟอเรท โดยแมวจะแสดงอาการที่ค่อนข้างเด่นชัดกว่า รวมทั้งสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ยังสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังสัตว์ชนิดเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในสุนัขสายพันธุ์บีเกิล ซึ่งพบว่าสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อได้แต่ไม่เด่นชัดและไม่มีการแสดงอาการของโรค เช่นเดียวกับการศึกษาใน ค้างคาวผลไม้อียิปต์ (Egyptian fruit bat) ซึ่งถูกทำให้ติดเชื้อ แต่สัตว์ไม่แสดงอาการป่วยและไม่มีการส่งผ่านเชื้อไปยังค้างคาวอีกตัว สำหรับสัตว์อื่นๆที่ได้มีการศึกษา เช่น สัตว์ปศุสัตว์อื่นๆ หมู ไก่ เป็ด พบว่าไม่มีความไวต่อการติดเชื้อ COVID-19
จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน สามารถสรุปได้ว่า สัตว์บางชนิดสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ COVID-19 ได้ แต่ทั้งหมดนั้น ยังต้องมีการศึกษาต่อไปในเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อของสัตว์ชนิดนั้น ๆ เพื่อยื่นยันการติดเชื้อในลักษณะการทำให้เกิดโรค และการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งประเด็นเรื่อง การตรวจพบเชื้อในสัตว์ ยังไม่ถือว่าสัตว์เป็นตัวแพร่กระจาย หรือเพิ่มการระบาดของโรคนี้ เพราะการติดต่อหลัก เป็นการถ่ายทอดเชื้อจาก มนุษย์ สู่ มนุษย์ แต่เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค หลาย ๆ หน่วยงาน ได้แก่ OIE , WHO หรือรวมทั้ง หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control ,CDC) ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ดังนี้
· ให้ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์เลี้ยงจากบุคคลอื่น
· การทิ้งระยะห่างเมื่อต้องนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านหรือหลีกเลี่ยงการพาสัตว์ไปยังพื้นที่ที่มีสัตว์จรจัด
· ควรเก็บสัตว์เลี้ยงในเขตที่พักอาศัยให้ได้มากที่สุดเพื่อลดโอกาสการติดต่อ
· มีสุขลักษณะที่ดี คือลดการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ ล้างและทำความสะอาดมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสสัตว์ งดสัมผัสสัตว์อื่นที่ไม่ใช้สัตว์เลี้ยงของตนเอง
· สำหรับผู้ที่มีโอกาส หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้งดการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตนเพื่อลดโอกาสการส่งผ่านเชื้อไปยังผู้อื่น
แปลและเรียบเรียงโดย
สพ.ญ.พรสุดา โคตรพัฒน์
ฝ่ายพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักอนุรักษ์และวิจัย
องค์การสวนสัตว์ฯ
อ้างอิง
- CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19). Centers for Disease Control and Prevention https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/daily-life-coping/animals.html (2020).
- Lam, T. T.-Y. et al. Identifying SARS-CoV-2 related coronaviruses in Malayan pangolins. Nature 1–6 (2020) doi:10.1038/s41586-020-2169-0.
- Shi, J. et al. Susceptibility of ferrets, cats, dogs, and other domesticated animals to SARS–coronavirus 2. Science (2020) doi:10.1126/science.abb7015.
- Update COVID-19 ในสัตว์ โดย รศ.น.สพ.ดร.ธีระพล ศิรินฤมิตร หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [Internet]. [cited 2020 Apr 14]. Available from: https://www.youtube.com/watch?v=NTXAEiiWbJk
- Questions and Answers on the COVID-19: OIE - World Organisation for Animal Health. https://www.oie.int/scientific-expertise/specific-information-and-recommendations/questions-and-answers-on-2019novel-coronavirus/.
เอกสารแนบ | ดาวน์โหลด |
---|---|
zoo-สู้-covid-19 แล้วสัตว์อื่นๆ-สามารถติดเชื้อ-COVID-19-ได้หรือไม่ | คลิก |