การใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการสืบพันธุ์และเพื่อรักษาพันธุกรรมสัตว์ป่าตระกูลแมวในประเทศไทย
สัตว์ป่าตระกูลแมวทั่วโลกมีทั้งหมด 36 ชนิด ส่วนในประเทศไทยนั้นมีสัตว์ป่าตระกูลแมวทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง, เสือดาว, เสือดำ, เสือลายเมฆ, แมวดาว, เสือปลา, เสือไฟ, เสือกระต่าย, แมวลายหินอ่อน และแมวป่าหัวแบน
สัตว์ป่าตระกูลแมวจัดอยู่ในสัตว์ป่าชนิดใกล้สูญพันธุ์ เพราะมีการล่าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย มีการจับสัตว์ป่ามาขาย การขาดจิตสำนึกในเชิงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า การลดพื้นที่ป่าในโลกเนื่องจากการเพิ่มจำนวนของประชากรมนุษย์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีการบุกรุกเข้ายังพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า รวมทั้งการนำเอาสัตว์ป่ามาค้าขายในเชิงพาณิชย์ การเพิ่มประชากรของสัตว์ป่าในกรงเลี้ยง (in captivity) และการรักษาพันธุกรรม (conservation) เป็นวิธีทางอ้อมที่จะคงรักษาพันธุกรรมของสัตว์ป่าได้
การนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการสืบพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology) อาทิเช่น การผสมเทียม (artificial insemination) การย้ายฝากตัวอ่อน (embryo transfer) การเก็บรักษาโอโอไซต์ ตัวอสุจิและตัวอ่อน (oocyte, sperm and embryo preservation) รวมทั้งเทคโนโลยีการโคลนนิ่งด้วยเซลล์โซมาติก (somatic cell cloning) เป็นวิธีการที่นำมาช่วยในการเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าและมาอนุรักษ์ในเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีความร่วมกับทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในงานวิจัยอย่างน้อย 2 โครงการคือ โครงการเก็บน้ำเชื้อสัตว์ป่าตระกูลแมว ร่วมกับ The Nashville Zoo, Smithsonian Park เมื่อ ปี พ.ศ. 2542 โดยประสบความสำเร็จในการรีดเก็บน้ำเชื้อ และปรับปรุงคุณภาพน้ำเชื้อ และการผสมเทียมสัตว์ป่าตระกูลแมว และในปี พ.ศ. 2547 ทางภาควิชาฯ ได้มีโครงการการศึกษาการพัฒนาโคลนนิ่งด้วยเซลล์โซมาติกในสัตว์ป่าตระกูลแมว (Study on development of somatic cell cloning in feline species) เป็นโครงการศึกษาการพัฒนาเทคโนโนโลยีโคลนนิ่งในสัตว์ป่าตระกูลแมว โดยความสนับสนุนจากองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการวิจัยตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2547 จนถึงปัจจุบันสามารถผลิตโคลนตัวอ่อนแมวลายหินอ่อนและแมวป่าหัวแบนได้ ซึ่งเป็นแมวป่าที่จัดเป็นสัตว์ชนิดที่หายากที่สุดในประเทศไทยและมีจำนวนน้อยมากจนประสบความสำเร็จ (Thongpakdee et al., 2004, 2005a, b)
เอกสารแนบ |
ดาวน์โหลด |
เอกสารแนบ | คลิก |