งูงวงช้าง/Elephant Trunk Snake (Acrochordus javanicus)

สิ่งที่น่าสนใจ :

งูงวงช้างมีลำตัวขนาดใหญ่ โดยเพศผู้มีความยาวลำตัวรวม 1.50 เมตร ส่วนเพศเมียขนาดลำตัวจะใหญ่กว่าและความยาวลำตัวอาจยาวถึง 2.40 เมตร ผิวหนังไม่ยิดติดกับกล้ามเนื้อลำตัว เกล็ดตามลำตัวเรียงต่อเนื่องกันไม่ทับซ้อนกันและแต่ละเกล็ดจะปุ่มแหลมรูปสามเหลี่ยม เกล็ดท้องจะแตกต่างจากงูชนิดอื่นโดยมีขนาดและรูปร่างเช่นเดียวกับเกล็ดส่วนอื่นๆ โดยที่งูชนิดอื่นจะมีเกล็ดท้องขนาดใหญ่กว่าลำตัวส่วนอื่น หัวส่วนปลายจะแบนและกว้าง โดยรูจมูกจะอยู่ด้านบนของปลายจมูก หางสั้นและสามารถบังคับการเคลื่อนไหวได้ เช่นใช้จับเหยื่อ งูงวงช้างเป็นงูที่มีการวิวัฒนาการเพื่อดำรงชีวิตในน้ำ การคงสภาพของร่างกายจะมีน้ำเป็นตัวช่วยพยุง การอยู่บนบกเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ถิ่นอาศัย :

งูงวงช้างจะอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อยของแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ชายทะเล เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำธาร ปากแม่น้ำ บางครั้งงูงวงช้างจะว่ายน้ำไปถึงทะเล มีการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของประเทศไทย ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะต่างๆ อินโดนีเซีย เช่น ชวา สุมาตรา บาหลี

อาหาร :

งูงวงช้างกินปลาและสัตว์น้ำบางชนิด และมักออกหากินตอนกลางคืน ใช้การซุ่มดักจับเหยื่อ จับเหยื่อด้วยการพันตัวเหยื่อโดยใช้ส่วนลำตัวและเกล็ดที่มีปุ่มเพื่อช่วยยึดตัวเหยื่อไว้ แล้วงูงวงช้างจะใช้ลำตัวส่วนหน้าบิดหมุนเพื่อหามุมที่จะใช้ปากงับเพื่อจับกลืนเหยื่อ

พฤติกรรม :

งูงวงช้างจะซ่อนตัวในเวลากลางวัน และจะมีกิจกรรมต่างๆ ในเวลากลางคืน ลักษณะของผิวหนังที่ไม่ยึดกับกล้ามเนื้อจะเป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนที่บนบก งูงวงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ขึ้นมาบนบกน้อย โดยจะอยู่ในน้ำ และอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 40 นาที เมื่อต้องการหายใจงูงวงช้างจะลอยตัวขึ้นมาที่ผิวน้ำ และให้ส่วนปลายจมูกอยู่เหนือผิวน้ำเพื่อหายใจนาน 15 - 20 นาที

อนุกรมวิธาน

CLASS : Reptilia

ORDER : Squamata

FAMILY : Acrochordidae

GENUS : Acrochordus

SPECIES : Elephant Trunk Snake (Acrochordus javanicus)

วัยเจริญพันธุ์ :

งูงวงช้างออกลูกเป็นตัว โดยออกลูกครั้งละ 20-30 ตัว โดยเป็นกระบวนการที่เรียกว่า โอโววิวิพาลัส (Ovoviviparous) คือ ไข่ที่ออกจากรังไข่จะถูกเก็บไว้ในร่างกายของแม่งูงวงช้าง จนกระทั่งผ่านช่วงการฟักไข่ที่นานประมาณ 5-6 เดือน ลูกที่ออกจากร่างกายแม่งูงวงช้างจะจึงออกมาเป็นตัว ซึ่งลูกที่ออกมาเป็นตัวสีเกล็ดตามลำตัวจะเป็นแถบยาวและจะหายไปเมื่อถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุขัยในสภาพกรงเลี้ยงอยู่ในช่วง 5-6 ปี

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

a