“รู้หรือไม่” คำว่า Hylobates เป็นภาษากรีก แปลว่า นักเดินป่า ชะนีมงกุฎจัดเป็นวานรขนาดเล็ก (Lesser Apes) ไม่มีหาง รูปร่างเพรียว ใบหน้าแบน ช่วงอกกว้าง มีแขนที่ยาวมากเมื่อเทียบกับขาที่ค่อนข้างสั้น ชะนีมงกุฎเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตบนชั้นเรือนยอดไม้ (เคลื่อนที่ หาอาหาร และมีกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ) ชะนีมงกุฎทั้งสองเพศเกิดมาด้วยขนสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน มีขนสีดำบนศีรษะและหน้าอกเมื่ออายุ ประมาณ 10–12 เดือน ไม่มีขนบริเวณใบหน้า ชะนีมงกุฎตัวผู้ในช่วงวัยรุ่นจะมีสีขนเหลือง เมื่ออายุ ประมาณ 3–4 ปี จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ยกเว้นขนสีขาวบนหัวคล้าย สวมมงกุฎ รอบ ๆ ใบหน้า คิ้ว หลังมือ หลังเท้า รวมทั้งถุงอัณฑะ ชะนีมงกุฎตัวเมียและวัยรุ่นมีขนสีเทาเงินหรือสีน้ำตาลแกมเหลือง มีขนสีขาวรอบใบหน้า และขนเหนือหู มีขนสีดำบนหัว แก้ม หน้าอก ท้อง คล้ายสวมเอี๊ยมหรือผ้ากันเปื้อน ชะนีมงกุฎจะอยู่เป็นครอบครัวเล็ก ๆ เฉลี่ยครอบครัวละ 4 ตัว มากสุดไม่เกิน 7 ตัว และมีอาณาเขตเฉพาะเป็นของตนเอง ชะนีมงกุฎมีแผ่นรองนั่ง (Callosities) มีลักษณะเป็นแผ่นหนังกลม ๆ ขนาดฝ่ามือชะนี อยู่ระหว่างอวัยวะเพศ ไว้ใช้สำหรับนั่ง
พบในทวีปเอเชีย กระจายอยู่ทางตะวันออกของราชอาณาจักรไทย ทางตะวันตกของราชอาณาจักรกัมพูชา และทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณ ป่าดิบประเภทต่าง ๆ และป่าเบญจพรรณที่มีความสมบูรณ์ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
เป็นสัตว์กินพืช อาหารหลัก คือ ผลไม้สุกเป็นส่วนใหญ่ (65 %) เช่น ไกร ไทรผู้ดี เดื่อใบหว้า มะหลอด ตีนตั่ง เงาะป่า มังคุดป่า และกระท้อนป่า ดอกไม้ (1.3 %) เช่น ดอกยางเสียน ยอดอ่อนเถาวัลย์ (25 %) ใบอ่อน (13%) แมลง (8.7%) ไข่นก กินผลไม้มากในช่วงเช้าและเย็น กินใบไม้และแมลงมากขึ้นในตอนกลางวัน กินน้ำโดยใช้วิธีการใช้มือจุ่มลงไปในน้ำตามโพรงไม้ แล้วเลียจากมือ
ชะนีมงกุฎใช้เวลาในการพักผ่อน (Resting) ประมาณ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน (37%) การหาอาหาร (26%) การเดินทาง (25%) การดูแลตัวเอง (Grooming) (5%) การร้อง (4%) การเล่น (3%) และการนอนหลับ (Sleeping) 15.8 ชั่วโมง ชะนีมงกุฎประกาศอาณาเขตด้วยการร้องเสียงดัง โดยตัวเมียจะเริ่มร้อง (Female Great Call) และตัวผู้จะร้องรับ ในช่วงกลางเป็นเสียงที่สั้นกว่า และต่อเนื่องไปกับเสียงร้องของตัวเมีย การร้องของทั้งตัวเมียและตัวผู้นี้รวมเรียกว่า การร้องคู่ (Vocal duet) บางครั้งจะได้ยินเสียงร้องของตัวผู้ตัวเดียว (Male solos) ส่วนใหญ่จะร้องตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงสาย ๆ ประมาณ 10–30 นาที ถึงเวลา ประมาณ 10.00–11.00 น. เสียงร้องดังไกล 2 กิโลเมตร ชะนีมงกุฎเคลื่อนที่โดยโหนจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง ซึ่งการโหนหรือการกระโจนอาจไกลถึง 9 เมตรหรือมากกว่า ด้วยความเร็ว ประมาณ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในการหากินใน 1 วัน ชะนีมงกุฎเดินทางเป็นระยะทาง ประมาณ 400–1,300 เมตร (เฉลี่ย 833 เมตร) เมื่ออยู่บนพื้น ชะนีมงกุฎจะชูแขนขึ้นเหนือศีรษะเพื่อทรงตัว ชะนีมงกุฎไม่สร้างที่นอน แต่จะเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งมักอยู่ห่างจากต้นไม้ที่เป็นอาหารต้นสุดท้าย เพราะพวกมันต้องการหลีกเลี่ยงผู้ล่าและสัตว์หากินตอนกลางคืนซึ่งอาจเข้ามารบกวนขณะพักผ่อน ชะนีมงกุฎนอนด้วยการนั่งพิงหลังกับลำต้นต้นไม้ใหญ่แล้วใช้มือจับกิ่งไม้ใกล้เคียงไว้ หรือเอียงตัวตะแคงบนกิ่งไม้ที่มั่นคง แล้วเอามือจับกิ่งไม้อีกกิ่ง ส่วนใหญ่ชะนีมงกุฎมักอยู่บนต้นไม้ที่ใช้นอนก่อนที่ฟ้าจะมืดเวลา ประมาณ 15.00–16.00 น.
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2020) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2024)
CLASS : Mammalia
ORDER : Primates
FAMILY : Hylobatidae
GENUS : Hylobates
SPECIES : Hylobates pileatus
อายุขัย ประมาณ 39 ปี
ชะนีมงกุฎไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ชะนีมงกุฎมีระบบการผสมพันธุ์แบบผัวเดียวเมียเดียว และรวมตัวกันเป็นกลุ่มครอบครัวขนาดเล็ก วงรอบการเป็นสัดของตัวเมียเฉลี่ย ประมาณ 27–30 วัน โดยมีประจำเดือน ประมาณ 4–5 วัน ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ ประมาณ 7.5 ปี และตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่อ ประมาณ 5–8 ปี การตั้งท้องโดยเฉลี่ยจะใช้เวลา ประมาณ 6–7.5 เดือน ลูกชะนีมงกุฎส่วนใหญ่จะหย่านมเมื่ออายุ ประมาณ 1–2 ปี ลูกจะอยู่กับแม่จนถึงอายุ ประมาณ 2 ปี เมื่อลูกอายุ ประมาณ 2–3 ปี แม่ชะนีมงกุฎจะเริ่มผสมพันธุ์อีกครั้ง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว เมื่อลูกชะนีอายุได้ 1 ปี จะเริ่มออกจากอกแม่ห้อยโหนไปมาด้วยตัวเอง ลูกชะนีมงกุฎตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูงเร็วกว่าตัวเมีย และจะอยู่ตามลำพังจนกระทั่งหาคู่ผสมพันธุ์ได้ ชะนีมงกุฎในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการผสมข้ามพันธุ์กับชะนีมือขาว จนเกิดเป็นชะนีลูกผสมซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างออกไป รวมถึงเสียงร้องด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นับเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลก ที่มีชะนีทั้ง 2 ชนิดนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ความยาวลำตัว ประมาณ 45–64 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 4–8 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก ประมาณ 5.4 กิโลกรัม ตัวผู้หนัก ประมาณ 5.5 กิโลกรัม มีฟัน 32 ซี่ และมีฟันเขี้ยวยาว (สูตรฟันคือ 2/2, 1/1, 2/2, 3/3)
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2568