“รู้หรือไม่” ช้างเอเชีย มี 4 ชนิดย่อย คือ 1. Elephas maximus maximus พบในสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา มีขนาดใหญ่ที่สุด และผิวหนังมีสีคล้ำที่สุด 2. Elephas maximus indicus พบในแผ่นดินใหญ่ของเอเชีย เป็นชนิดย่อยที่มีการกระจายมากที่สุด 3. Elephas maximus sumatranus พบบนเกาะสุมาตรา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีขนาดเล็กที่สุดและสีผิวจางที่สุดแตกต่างจากชนิดย่อยอื่น ๆ เนื่องจากตัวผู้ 90–95% ไม่มีงา 4. Elephas maximus borneensis เป็นช้างที่มีขนาดเล็กที่สุด รหัสทางพันธุกรรมแตกต่างจากช้างชนิดย่อยอื่น ๆ ช้างเอเชียเป็น 1 ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักตัวเกิน 1,000 กิโลกรัม ที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลก เอกลักษณ์ของช้างเอเชียที่รู้จักกันดีก็คือ อวัยวะพิเศษ 2 อย่าง นั่นคือ 1. งวง และ 2. งา งวงเป็นจมูก และริมฝีปากบนที่พัฒนาให้ยื่นยาวออกมาเป็นอวัยวะอเนกประสงค์ ใช้หยิบจับสิ่งของ เปล่งเสียง สูบน้ำ มีกำลังมหาศาล ส่วนงาเป็นเขี้ยวที่พัฒนาให้ใหญ่ขึ้นใช้เป็นอาวุธและงัดยกสิ่งของได้ ช้างเอเชียมีลักษณะอ้วนป้อม หัวเป็นโหนก/ลอน มี 2 โหนก/ลอน มีหูแบนเป็นรูปสามเหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 65–85 เซนติเมตร ขอบหูด้านบนม้วนเป็นขอบหนา อยู่ต่ำกว่าหัวช้าง สันหลังโค้ง ตัวผู้เรียก “ช้างพลาย” มีงายาว ส่วนช้างตัวผู้ที่มีงาเล็ก สั้น หรือไม่มีงาเลย เรียกว่า “ช้างสีดอ” ตัวเมียเรียกว่า “ช้างพัง” มักไม่มีงา บางตัวมีงาเล็ก ๆ สั้น ๆ เรียกว่า “ขนาย” ที่ปลายงวงด้านบนมีจะงอยเดียว ไว้ช่วยหยิบ/จับของ และมีขน Vibrissae และ Vellus vibrissae (ขนอ่อน) ที่ไวต่อการรับสัมผัส ช้างเอเชียมีรูจมูก 2 รู สามารถได้กลิ่นที่อยู่ไกลออกไป ประมาณ 19.2 กิโลเมตร ช้างเอเชียได้ยินเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำค่อนข้างดี ประมาณ 7–10,500 เฮิรตซ์ ช้างเอเชียมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่เกิน 10–20 เมตร และมองเห็นสีเหลือง สีน้ำเงิน สีขาวเทา ช้างเอเชียมีอาการคล้ายคนตาบอดสีเขียวแดง ช้างเอเชียมีผิวหนังสีเทา มีขนปกคลุม ผิวหนังของช้างบริเวณหลังใบหูหนา ประมาณ 1.8 มิลลิเมตร บริเวณโคนขาด้านในหนา ประมาณ 1 เซนติเมตร บริเวณหลังหนา ประมาณ 3.2 เซนติเมตร และบริเวณต้นขาด้านนอกหนา ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผิวหนังบริเวณโคนเล็บตีนมีต่อมเหงื่อจำนวนมากกว่าผิวหนังบริเวณอื่น ส่วนใหญ่ตีนหน้ามี 5 เล็บ ตีนหลังมี 4 เล็บ พื้นฝ่าตีนหนา ประมาณ 2 เซนติเมตร มีรอยหยักเว้าลึกคล้ายดอกยางรถยนต์ ทำให้ไม่ลื่นเมื่อเดินบนพื้นที่เปียกชื้น ฟันของช้างเอเชีย จะเป็นแผงใหญ่ ยาว ประมาณ 10–12 นิ้ว กว้าง ประมาณ 3–4 นิ้ว ลึกลงไปในกระดูกกราม ประมาณ 10–12 นิ้ว จะเป็นแผงใหญ่ไม่แบ่งเป็นซี่เหมือนสัตว์อื่น ๆ เป็นฟันบน 2 แผง ฟันล่าง 2 แผง จะงอกเลื่อนขึ้นมาเรื่อย ๆ จากทางด้านใน เมื่อใช้ฟันเคี้ยวอาหารไปเรื่อย ๆ ฟันทั้ง 4 แผง จะค่อย ๆ สึกไป เมื่อฟันสึกไปหมดทุกแผงแล้วจะไม่มีฟันขึ้นมาใหม่อีก ช้างชราจึงเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
ในทวีปเอเชีย ในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ราชอาณาจักรภูฏาน, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐอินเดีย, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (จังหวัดกาลิมันตัน, เกาะสุมาตรา), สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, มาเลเซีย (รัฐซาบาห์ คาบสมุทรมลายู), สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล, สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา, ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม บริเวณทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบเขา โดยทั่วไปช้างเอเชียจะอาศัยอยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเล ถึงระดับ 3,000 เมตร ที่อินเดียพบว่า ช้างเพศเมียใช้พื้นที่ ประมาณ 115,000 –203,750 ไร่ ในขณะที่ ช้างเพศผู้ใช้พื้นที่ ประมาณ 117,500–254,375 ไร่
เป็นสัตว์กินพืช อาหารส่วนใหญ่จะกินพืช 82 ชนิด (ไม้ยืนต้น 59 ชนิด และหญ้า 23 ชนิด) เป็นวงศ์หญ้า (Poaceae) (84%) เช่น พง แขม กก, วงศ์ไม้ไผ่ (Bambusoideae) เช่น ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ป่า ไผ่รวก วงศ์กก (Cyperaceae), วงศ์ยาง (Euphorbiaceae), วงศ์พุทรา (Rhamnaceae) วงศ์ชบา (Malvales) พืชตระกูลถั่ว (Fabaceae),เถาวัลย์ (Climber) เช่น สลอดน้ำ บอระเพ็ด หนามหัน, สำโรง (Sterculias) ต้นเกด (Hexandra) และต้นปาล์ม (Palmae) โดยกินเปลือกไม้ ราก ใบไม้ และลำต้นเล็ก ๆ ช้างเอเชียใช้เวลาในการหาอาหารวันละ ประมาณ 12–19 ชั่วโมง และกินอาหาร ประมาณ 150–200 กิโลกรัม หรือ ประมาณ 10% ของน้ำหนักร่างกาย ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของช้างเอเชีย มีด้วยกัน 3 อย่าง นั่นก็คือ อาหาร แหล่งน้ำและดินโป่ง
ช้างเอเชียกระพือหูเพื่อช่วยระบายความร้อนของร่างกาย หรืออาจลงน้ำหรือพ่นน้ำบนร่างกาย ช้างเอเชียโตเต็มวัยนอนวันละ ประมาณ 1–4 ชั่วโมง ในช่วงใกล้สว่าง โดยจะล้มตัวลงนอนตะแคงข้าง ลูกช้างจะนอนบ่อยกว่า อาจล้มตัวลงนอนทุก ๆ 3–4 ชั่วโมง และนอนนาน ประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ช้างจะนอนน้อยลง ช้างเอเชียเป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นฝูง (โขลง) ซึ่งในโขลงนี้จะประกอบด้วยช้างผู้นำที่เป็นช้างตัวเมีย ตัวใหญ่ที่สุด มีอายุมากพร้อมกับประสบการณ์ในการนำทางและดูแลฝูงมากที่สุด เราเรียกช้างผู้นำนี้ว่า “จ่าโขลง” หรือ “แม่แปรก (อ่านว่า แม่-ปะ-แหรก)” เมื่อตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์แล้ว จะออกจากโขลงไปอาศัยอยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ กับตัวผู้อื่น ๆ ช้างเอเชียวิ่งได้เร็ว ประมาณ 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช้างเอเชียว่ายน้ำเก่ง ช้างเอเชียถ่ายมูล ประมาณ 16–18 ครั้ง/วัน มีน้ำหนัก ประมาณ 100 กิโลกรัม
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2020) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2024)
CLASS : Mammalia
ORDER : Proboscidea
FAMILY : Elephantidae
GENUS : Elephas
SPECIES : Elephas maximus
SUBSPECIES : Elephas maximus indicus
อายุขัย ประมาณ 60–70 ปี
ระบบการผสมพันธุ์ของช้างเอเชีย เป็นแบบมีตัวเมียหลายตัว ผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี การผสมพันธุ์มากขึ้นในช่วงเวลาที่มีฝนตกชุกที่สุด โดยจะผสมพันธุ์ทุก ๆ 4–5 ปี ตัวเมียมีวงรอบการเป็นสัด ประมาณ 3–7 วัน ตัวผู้และตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ ประมาณ 10–15 ปี โดยปกติตั้งท้อง ประมาณ 18–23 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกแรกเกิดมีน้ำหนัก ประมาณ 75–100 กิโลกรัม ลูกช้างกินนมแม่อย่างเดียวจนอายุ ประมาณ 4–6 เดือน จึงเริ่มหัดกินพืชและอาหารอื่น ๆ ลูกช้างจะอยู่กับแม่จนอายุ ประมาณ 3–4 ปี จึงจะอดนม ดังนั้น แม่ช้างในวัยเจริญพันธุ์ จะให้กำเนิดลูกช้าง 1 ตัว ในทุก ๆ 5–6 ปี
ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียมาก ความยาวลำตัว ประมาณ 550–640 เซนติเมตร ตัวผู้มีความสูงระดับไหล่ ประมาณ 2.40–3.00 เมตร น้ำหนักตัว ประมาณ 3,500–6,000 กิโลกรัม ตัวเมียมีความสูงระดับไหล่ ประมาณ 1.95–2.40 เมตร น้ำหนักตัว ประมาณ 2,000–3,500 กิโลกรัม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2568