“รู้หรือไม่” นากเล็กเล็บสั้นมีหัวค่อนข้างเล็ก ดวงตาใหญ่ นากเล็กเล็บสั้นมีหูขนาดเล็กและสามารถปิดได้เหมือนกับรูจมูกขณะดำน้ำ นากเล็กเล็บสั้นลำตัวยาว ขาสั้น หางแบน ขนสีน้ำตาลเข้มด้านบนและขนสีอ่อนด้านล่าง มักมีรอยสีเทา สีขาว หรือสีครีมบนใบหน้าและลำคอ มี 5 นิ้ว ลักษณะตีนจะมีกรงเล็บ และพังผืด เล็บสั้น ไม่เกินอุ้งตีน นากเล็กเล็บสั้นมีขนาดเล็กที่สุดในโลก จากนากทั้ง 13 ชนิด นากเล็กเล็บสั้นมักนำหอยที่จับได้มาวางตากแดดไว้จนเปิดออก แล้วค่อยกินโดยไม่ต้องทุบเปลือกหอยให้แตก
พบในทวีปเอเชีย ในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ราชอาณาจักรภูฏาน, บรูไนดารุสซาลาม, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐอินเดีย (รัฐอัสสัม, รัฐกรณาฏกะ, รัฐอรุณาจัลประเทศ, รัฐเบงกอลตะวันตก, รัฐหิมาจัลประเทศ, รัฐทมิฬนาฑู, รัฐเกรละ), สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา, เกาะชวา, จังหวัดกาลิมันตัน), สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, มาเลเซีย, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐสิงคโปร์, ไต้หวัน, ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พบได้ทั่วไปตามบริเวณลำธารเล็ก ๆ แม่น้ำ หนองบึง ทะเลสาบ ชายฝั่งทะเล ในป่าชายเลน และชายฝั่งทะเล ที่มีใบไม้หนาทึบอยู่ใกล้ ๆ เพื่อใช้เป็นที่กำบัง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล
เป็นสัตว์กินเนื้อ กินกุ้งและหอยเป็นหลัก ขุดทรายและโคลนตามชายฝั่งเพื่อหาหอยประเภทต่าง ๆ (หอยกาบ, หอยตลับ และหอยแมลงภู่) รวมทั้ง ปู ปลา (ปลากระดี่, ปลาตีน, ปลาดุก, ปลาหมอ และปลาช่อน) แมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน โดยใช้หนวดในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของเหยื่อในน้ำ
อาศัยอยู่ในกลุ่มครอบครัวขยายที่มีสมาชิก ประมาณ 12–20 ตัว เป็นสัตว์สังคม ออกหากินทั้งเวลากลางวัน และกลางคืน ใช้อุ้งตีนหน้าเพื่อหาและจับสิ่งของ แทนปาก เริ่มแสดงพฤติกรรมทางเพศเมื่ออายุ ประมาณ 6 เดือน สื่อสารกันด้วยเสียงร้อง ซึ่งมีเสียงที่แตกต่างกันอย่างน้อย 12 เสียง
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2021) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2024)
CLASS : Mammalia
ORDER : Carnivora
FAMILY : Mustelidae
GENUS : Aonyx
SPECIES : Aonyx cinereus
อายุขัย ประมาณ 11 ปี
จับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ ประมาณ 1.5 ปี ผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ผสมพันธุ์ในน้ำ มีวงรอบการเป็นสัดทุก ๆ 28–30 วัน นาน 3 วัน ออกลูกครั้งละ ประมาณ 1–6 ตัว ตั้งท้อง ประมาณ 68–72 วัน ตัวเมียมีเต้านม 4 เต้า ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนคลอด ทั้งตัวเมียและตัวผู้จะสร้างรัง โดยขุดตลิ่งโคลนเพื่อทำโพรงรัง และนำหญ้าแห้ง หรือฟาง และนำวัสดุนี้เข้าไปใช้เป็นวัสดุรองรัง และหาอาหารมาช่วยเลี้ยงลูก ลูกแรกเกิดมีน้ำหนัก ประมาณ 50 กรัม ความยาวลำตัว ประมาณ 14 เซนติเมตร มีขนสีเทาเงิน และยังไม่ลืมตา จะลืมตาเมื่ออายุ ประมาณ 40 วัน ลูกเริ่มกินอาหารแข็งเมื่ออายุ ประมาณ 80 วัน และเริ่มว่ายน้ำเมื่ออายุ ประมาณ 3 เดือน
มีน้ำหนัก ประมาณ 2.7–5.4 กิโลกรัม ตัวผู้มีความยาวลำตัว ประมาณ 36–44 เซนติเมตร หางยาว ประมาณ 22.5–27 เซนติเมตร ตัวเมียมีความยาวลำตัว ประมาณ 43.2–46.8 เซนติเมตร หางยาว ประมาณ 26–27.5 เซนติเมตร มีฟัน 34 ซี่ ฟันเขี้ยวมีขนาดใหญ่ (สูตรฟันคือ 13/3, C 1/1, P 3/3, M 1/2)
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2568